พบกันอีกครั้งกับ เรื่องลี้ลับ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน นิทานพื้นบ้านและละครจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่อง “ไกรทอง” ก็ยังคงเป็นเรื่องราวยอดฮิตที่ผู้คนชื่นชอบฟังและดูกันอยู่เสมอมาแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานแค่ไหนก็ตาม ความรักสี่เส้าของมนุษย์นักปราบจระเข้อย่างไกรทองที่หลงรักลูกสาวเศรษฐีของเมืองพิจิตรอย่างตะเภาแก้ว ตะเภาทอง รวมถึงจระเข้สาวสวยอย่างเลื่อมลายวัลย์ และวิมาลาก็ยังคงเป็นเรื่องเล่าขานที่ฟังวนซ้ำกี่รอบต่อกี่รอบก็ยังคงสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจเช่นเดิม เพราะนอกจากความรักที่เกิดขึ้นจนวุ่นวายทั้งโลกมนุษย์และโลกบาดาลแล้ว ยังมีความน่าลุ้นของสงครามที่ต่อสู้กันมายาวนานของไกรทองกับชาละวันที่เป็นจระเข้ครองลุ่มน้ำด้วย แต่ใครบ้างจะรู้ว่า ความจริงแล้วเรื่องขานนี้ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องที่แต่งขึ้นมาให้สนุกสำหรับชาวไทยยุคก่อนที่บ้านอยู่ริมแม่น้ำเท่านั้น แต่เป็นตำนานท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจริงในจังหวัดพิจิตรยุคสมัยก่อน และมีสถานที่ต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของชาละวัน ตั้งแต่แม่น้ำสายเก่าของพิจิตรและถ้ำใต้บาดาลด้วย ซึ่งตำนานที่เล่าขานกันเกี่ยวกับ ตำนานพญาชาละวัน แห่งเมืองพิจิตร จะเป็นอย่างไรมาดูกัน!
เรื่องราวของ ตำนานพญาชาละวัน แห่งเมืองพิจิตร

ตำนานพญาชาละวันแห่งเมืองพิจิตร ได้กล่าวถึง “ชาละวัน” จระเข้ยักษ์เลื่องชื่อแห่งแม่น้ำน่านเก่าเมืองพิจิตรที่มีชีวิตอยู่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นหรือที่คาดว่าเป็นไปได้คือ ช่วงรัชกาลที่ 1 – 2 โดยจุดเริ่มต้นของตำนานนี้เกิดจากคู่ตายายสองสามีภรรยาที่เป็นชาวบ้านชุมชนบ้านดงเศรษฐีในเมืองพิจิตรได้ออกไปหาปลาเลี้ยงชีพจนพบไข่จระเข้ที่บึงสีไฟจึงเก็บมาด้วยความเป็นห่วงกลัวสัตว์ร้ายจะมาทำอันตราย จนกระทั่งไข่ฟักเป็นตัวแล้ว พวกเขาก็เลี้ยงจระเข้ที่ให้ชื่อว่า “ชาละวัน” ไว้ในอ่างน้ำ เพราะยายอยากเลี้ยงไว้แทนลูก
ต่อมา เมื่อจระเข้ชาละวันตัวใหญ่ขึ้น พวกเขาจึงนำไปเลี้ยงไว้ในสระใกล้บ้าน ในทุกวันตายายจะหาปลามาให้จระเข้ชาละวันกินเป็นประจำ จนจุดเปลี่ยนมาถึง เมื่อตายายหาปลามาให้เป็นอาหารไม่พออิ่ม ด้วยความโมโหจระเข้ชาละวันจึงกินตายายเป็นอาหารตอนพวกเขาเผลอ

เมื่อขาดคนเลี้ยงดูให้อาหาร จระเข้ชาละวันจึงออกจากสระและลงไปอาศัยอยู่ในแม่น้ำน่านเก่า ซึ่งห่างจากสระของบ้านตายายเพียง 500 เมตร จนถึงคุ้งน้ำย่านบ้านบางคลาน จระเข้ชาละวันก็เที่ยวออกอาละวาดอยู่ในแม่น้ำตั้งแต่ย่านเหนือเขตวังกระดี่ทอง ดงชะพลู จนถึงเมืองเก่าด้วยความหิวโหยกัดกินคนทั้งบนบกและในน้ำไม่มีเว้นแต่ละวันจนในสมัยนั้นไม่มีใครที่กล้าลงเรือไปจับปลาเพียงคนเดียวเลย จนกระทั่งหลายสิบปีต่อมา ชาละวันก็เริ่มออกล่าเหยื่อน้อยลงจนเงียบหายไปเป็นเพียงตำนานเรื่องเล่าขานในที่สุด บ้างก็ว่า ชาละวันในวัยชราเกิดกลับใจจึงตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมใต้ถ้ำบาดาลอันเป็นที่อยู่หลักก่อนจะสิ้นใจใต้บาดาลและเป็นภูตที่คอยดูแลแม่น้ำน่านเก่ากับแม่น้ำน่านใหม่ในพิจิตรจนถึงปัจจุบัน
วัดสวยกับสถานที่ย้อนรอยตำนานพญาชาละวันแห่งเมืองพิจิตร

ตำนานพญาชาละวันแห่งเมืองพิจิตร มีร่องรอยที่เรายังสามารถเห็นได้จากวัดดังของเมืองพิจิตรที่ชื่อว่า “วัดถ้ำชาละวัน” ซึ่งเชื่อว่า บริเวณวัดนี้ตั้งอยู่ใกล้กับถ้ำชาละวัน เดิมเป็นวัดร้างและได้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2515 โดยพระครูวิจิตรคุณาทร โดยถ้ำชาละวันจะทางลงไปปากถ้ำที่มีลักษณะแบบโพรงลึกเป็นรูปวงกลมขนาดพอดีที่จระเข้ขนาดใหญ่มากเข้าได้ ซึ่งพระภิกษุวัดนครชุมรูปหนึ่งได้เคยจุดเทียนไขเดินเข้าไปในถ้ำ จนหมดเทียนหนึ่งเล่มก็ยังไม่ถึงก้นถ้ำ ในปัจจุบันดินในถ้ำก็ได้พังทลายทับถมจนตื้นเขิน ทางจังหวัดได้สร้างรูปปั้นไกรทองและชาละวันไว้ที่บริเวณปากถ้ำในตัววัด ซึ่งว่ากันว่าใครที่มาไหว้ขอพรพญาชาละวันเรื่องการงานและการเงินก็จะได้สมความปรารถนา ด้วยมีวิญญาณของพญาชาละวันสิงสถิตย์ดูแลบริเวณถ้ำนี้อยู่ ติดตามกันต่อได้ใน เรื่องลี้ลับ
อัพเดทข่าวสาร สาระดีๆ เพิ่มเติมที่ The7days